หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กฎหมาย

กฎหมายคืออะไร

คำจำกัดความของ กฎหมาย หมายถึงคำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นผู้ใดฝ่าฝืน มีสภาพบังคับ

ลักษณะของกฎหมาย

เมื่อได้ทราบความหมายของกฎหมายแล้ว กฎหมายต้องมีลักษณะ ๕ ประการดังนี้

1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ

หมายความว่า กฎหมายนั้นต้องอยู่ในรูปของคำสั่ง คำบัญชา อันเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับ เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ มิใช่เป็นการประกาศชวนเชิญเฉย ๆ เช่น ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนคนไทยให้สวมหมวก เลิกกินหมากและให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน ประกาศนี้แจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนิยมให้ประชาชนปฏิบัติอย่างไร มิได้บังคับจึงไม่เป็นกฎหมาย

2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์

รัฎฐาธิปัตย์คือ ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน โดยที่ไม่ต้องฟังอำนาจจากผู้ใดอีก ดังนี้รัฎฐาธิปัตย์จึงไม่ต้องพิจารณาถึงที่มาหรือลักษณะการได้อำนาจว่าจะได้อย่างไร แม้จะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตามถ้าหากคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่สามารถออกคำสั่ง คำบัญชาในฐานะเป็นกฎหมายของประเทศได้

3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป

หมายความว่า กฎหมายต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุ เพศ หรือฐานะอย่างไรก็ตกอยู่ภายใต้ของการใช้บังคับกฎของกฎหมายอันเดียวกัน (โดยไม่เลือกปฏิบัติ) เพราะบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคล หรือวางความรับผิดชอบให้แก่คนบางหมู่เหล่า แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าใช้บังคับทั่วไปอยู่เหมือนกัน เพราะคนทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ

สาระสำคัญอีกประการหนึ่งคือ กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอกไป (CONTINUITY) จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือถูกยกเลิก หากไม่มีการยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ได้เสมอ ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า กฎหมายนอนหลับบางคราวแต่ไม่เคยตาย (THELAW SOMETIMESSLEEP, NEVER DIE)

4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม

แม้การปฏิบัติบางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติ แต่หากเป็นคำสั่ง คำบัญชาแล้ว ผู้รับคำสั่ง คำบัญชา ต้องปฏิบัติตาม หากขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดสภาพบังคับของกฎหมาย อันเป็นผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น และเป็นที่พึงเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติตามกฎหมายได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่สัตว์ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมมิให้สัตว์ก่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนรำคาญแก่มนุษย์ ดังนี้กฎหมายจึงกำหนดความรับผิดไว้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตามสมควร จึงมิใช่เป็นการออกคำสั่ง คำบัญชาแก่สัตว์ แต่เป็นการควบคุมโดยผ่านทางผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้คำเสียหายทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย

5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ

เพื่อให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และประชาชนเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงต้องมีสภาพบังคับ (SANCTION) สภาพบังคับของกฎหมายนั้นแบ่งเป็นสภาพบังคับในทางอาญาและทางแพ่ง

สภาพบังคับให้ทางอาญาโดยทั่วไปแล้ว คล้ายคลึงกัน คือ หากเป็นโทษสูงสุดจะใช้วิธีประหารชีวิต ซึ่งปางประเทศให้วิธีการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า แขวนคอ แต่ประเทศไทยในปัจจุบันให้นำไปฉีดยาให้ตายใช้วิธีประหารด้วยวิธีอื่นไม่ได้ นอกจากนั้นก็เป็นการจำคุก เป็นการเอาตัวนักโทษควบคุมในเรือนจำ ซึ่งต่างกับกักขังเป็นการเอาตัวไปกักไว้ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่นที่อยู่ของผู้นั้นเอง หรือสถานที่อื่นที่ผู้ต้องกักขังมีสิทธิดีกว่าผู้ต้องจำคุก สำหรับกฎหมายไทยโทษกักขังจะใช้เฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดครั้งแรก และความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ศาลจึงจะลงโทษกักขังแทนจำคุกได้ ส่วนการปรับคือ ให้ชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล

การริบทรัพย์สิน คือ การริบเอาทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เช่น ปืนที่เตรียมไว้ยิงคน หรือเงินที่ไปปล้นเขามา นอกจากการริบแล้วอาจสั่งทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้

สภาพบังคับในทางแพ่งก็ได้แก่ การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น การซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตกเป็นโมฆะ การทำนิติกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี เป็นการพ้นวิสัยก็ดี เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ตกเป็นโมฆะ การให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจากการไม่ชำระหนี้ การให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกละเมิดเป็นต้น

ที่มาของกฏหมาย

แหล่งที่มาของกฏหมายมีอยู่มากมายหลายทาง และมีวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทังนี้สามารถแบ่งแหล่งที่มาของกฏหมายได้ดังนี้

· จารีตประเพณี เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเรื่องของการยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน

· การออกกฏหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการปกครองระบอบราชาธิปไตย การออกกฏหมายจะเป็นพระบรมราชโองการของกษัตริย์ ต่อมาอำนาจในการออกกฏหมายเป็นของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการออกกฏหมายโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือ สถาบันรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติ ปัจจุบันรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นแหล่งออกกฏหมายโดยตรง

· คำสั่งและกฤษฏีกาที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เป็นกฏหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกมาบังคับใช้

· คำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลคือแหล่งที่มาของกฏหมายนั้นๆ เช่น กรณีที่ผู้พิพากษาเคยตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน เมื่อมีคดีลักษณะเช่นเดียวกันเกิดขึ้นมาอีก ผู้พิพากษาจะยึดเอาคำตัดสินที่แล้วมาเป็นหลัก

· ความคิดเห็นของนักวิชาการ นักวิชาการกฏหมายมีส่วนช่วยให้เกิดกฏหมายใหม่ๆ ขึ้นบังคับใช้ในสังคม หรือนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฏหมายต่างๆ ทีไม่มีความยุติธรรมหรือไม่มีความเท่าเทียมกันในสังคม ให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฏหมายเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 18 ปี ฯลฯ

ลักษณะสำคัญของกฏหมาย

กฏหมายมีลักษณะสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1.กฏหมายมีลักษณะเป็นข้อบังคับ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

· บังคับไม่ให้กระทำ เช่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ห้ามเสพสิ่งเสพย์ติด

· บังคับให้กระทำ เช่น ประชาชนชาวไทยเมื่อมีอายุ 15 ปี ต้องมีบัตรประจำตัวประชาขน ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอากร เป็นต้น

2. กฏหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดมีขึ้นโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกกฏหมาย ส่วนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภาเป็นผู้ออกกฏหมาย และพระราชบัญญัติ มีรัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกำหนด พระราชกฤษฏีกาและกฏกระทรวง

3. กฏหมายจะต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้กับบุคคลทุกคนในรัฐโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างเสมอภาคไม่ว่าคนนั้นจะถือสัญชาติใดก็ตาม

4. กฏหมายมีผลบังคับใช้ตลอดไป จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก

5. ผู้ใดฝ่าฝืนกฏหมายต้องได้รับโทษ การปฏิบัติตามกฏหมายไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้ปฏิบัติ แต่เกิดจากการถูกบังคับ ดังนั้นเพื่อให้การบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน ได้แก่

· ความผิดทางอาญากำหนดโทษไว้ 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน

· วิธีการเพื่อความปลอดภัย เป็นมาตรการเพื่อให้สังคมปลอดภัยจากการกระทำของผู้กระทำผิดที่ติดเป็นนิสัยไม่มีความเข็ดหลาบ โดยไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฏหมายอาญากำหนดไว้ 5 ประการ คือ การกักกัน ห้ามเข้าเขตกำหนด เรียกประกันทัณฑ์บน คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล และห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง

· กฏหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ กฏหมายที่บัญญัติออกมาต้องมาจากรัฐที่มีเอกราช

· พนักงานของรัฐเป็นผู้บังคับให้เป็นไปตามกฏหมาย หมายความว่า เมื่อมีการกระทำผิดที่ฝ่าฝืนกฏหมาย จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจะแก้แค้นหรือลงโทษกันเองไม่ได้บุคคลเหล่านี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา เป็นต้น

จุดประสงค์และความสำคัญของกฏหมาย

จุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาก็เพื่อ จัดระเบียบให้กับสังคม ทั้งยังช่วยรักษาความมั่นคงให้รัฐ ระงับข้อพิพาท ประสานผลประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ช่วยพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาระเบียบของสังคม เมื่อสังคมมีระเบียบจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

จากจุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาข้างต้น สามารถสรุปความสำคัญของกฏหมายได้ดังนี้

· เป็นเครื่องมือในการควบคุมและกำหนดแนวทางพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นระเบียบและเพื่อความสงบเรียบร้อย

· เป็นเครื่องมือในการกำหนดและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแก่ประชาชนในรัฐ

· เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ภายในรัฐ

· เป็นเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยและปกป้องอันตรายและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับสังคมหรือรัฐ

· เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง

ประเภทของกฏหมาย

การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. กฏหมายระหว่างประเทศ

กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น

2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน

  • กฏหมายมหาชน หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
    • รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
    • กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ
    • กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
    • กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล
    • พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด
  • กฏหมายเอกชน

เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

    • กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
    • กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง
    • กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง

สำหรับประเทศไทย ได้รวมกฏหมายแพ่งและกฏหมายพาณิชย์ไว้เป็นฉบับเดียวกัน เรียกว่า ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฏหมาย ได้แก่

ประชาชน ได้แก่ ผู้กระทำผิด หรือผู้เสียหาย ดังนั้นประชาชนต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฏหมายในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ ได้แก่ เจ้าพนักงานที่กฏหมายให้อำนาจและหน้าที่ในการใช้กฏหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน จับกุม ป้องกัน ปราบปรามผู้กระทำผิด

ตำรวจ ตามประมวลกฏหมายอาญา ตำรวจมีหน้าที่สืบสวน จับกุม สอบสวน เปรียบเทียบปรับ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมบุคคลที่ทำความผิดทางแพ่ง

เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจจับกุม ป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิดตามกฏหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง เช่น พนักงานป่าไม้ ตำรวจศุลกากร เป็นต้น

พนักงานอัยการ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่าสมควรฟ้องหรือไม่ในคดีอาญา และทำหน้าที่เป็นทนายโจทย์หรือทนายจำเลย ว่าความให้ส่วนราชการในคดีแพ่ง

ทนายความ คือ นักกฏหมายที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาต โดยมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงจากฝ่ายโจทย์หรือจำเลยเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณา

ศาลยุติธรรม คือ ผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ผู้พิพากษาชั้นต้น ผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ และผู้พิพากษาศาลฏีกา

พนักงานบังคับคดีและพนักงานราชทัณฑ์ มีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล

ความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้กฏหมาย

ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของสังคมจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ ทำความเข้าใจในกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมที่เราอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ซึ่งได้แก่

รู้จักระวังตน ไม่เผลอหรือพลั้งกระทำผิดโดยไม่รู้ตัว เนื่องมาจากเพราะไม่รู้กฏหมาย และเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษตามกฏหมาย

ไม่ให้ถูกผู้อื่นเอาเปรียบและถูกฉ้อโกงโดยที่เราไม่มีความรู้เรื่องกฏหมาย

ก่อเกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ถ้าหากรู้หลักกฏหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของตนเองแล้วย่อมจะป้องกันความผิดพลาดอันเกิดจากความไม่รู้กฏหมายในอาชีพได้

ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองการปกครองของประเทศ เพราะเมื่อประชาชนรู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ของตนเองตามกฏหมายแล้ว ย่อมทำให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย

ในชีวิตประจำวันบุคคลมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามระบบการเมือง การปกครอง ระบบกฏหมายและระบบเศรษฐกิจ เราจะต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเองและรู้จักใช้สิทธิที่มีอยู่ไปประกอบอาชีพและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ โดยมีสิทธิเลือกได้ว่าจะดำเนินชีวิตส่วนตัวอย่างไร แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กฏหมายกำหนด บุคคลจึงต้องขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับกฏหมายเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น